โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ คือโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงจมูก ลําคอ และปอด
ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งเป็น 3 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B และ สายพันธุ์ C
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นสายพันธ์ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเจอภาวะแทรกซ้อนได้รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น
อาการที่พบได้หลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยปกติแล้วระยะการหายจากโรคจะอยู่ในช่วง 5- 7 วัน
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไป
มีไข้ หนาวสั่น และเหงื่อออก
ปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
เจ็บคอและไอแห้ง
ปวดตา
มีน้ำมูก จาม
หายใจถี่
ท้องเสียและอาเจียนซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก
สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
จากการสัมผัสเชื้อไวรัสจากละอองฝอยในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูดคุย คนทั่วไปอาจสูดรับเชื้อโรคทางลมหายใจหรือสัมผัสเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวของวัตถุ
ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการ และยังสามารถแพร่เชื้อได้ต่อไปอีก 5 วันหลังแสดงอาการ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า
มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากได้รับวัคซีนหรือป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน ร่างกายมักมีภูมิต้านทานโรค หากเชื้อไวรัสตัวใหม่นั้นมีความใกล้เคียงกับเชื้อตัวเก่าที่เคยเป็น ร่างกายจะมีแอนติบอดีป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประดับแอนติบอดีในร่างกายจะลดลง
หากสัมผัสกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายไม่เคยรู้จักมาก่อน แอนติบอดีที่มีอยู่เดิมจะไม่สามารถสู้กับและป้องกันการติดเชื้อได้
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
จะจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ผงเกลือแร่สำหรับคนที่มีอาการท้องเสีย กินได้น้อย ร่างกายอ่อนเพลียและเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวิตามินหรือสมุนไพร การพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้
หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
เจ็บหน้าอก หายใจถี่
เวียนศีรษะ
ชัก
กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
โรคประจำตัวกำเริบหรือทรุดตัว
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์โดยทันที การใช้ยาต้านไวรัสช่วยให้หายป่วยได้เร็วขึ้นและป้องกันอาการไม่ให้ทรุดหนัก
การดูแลตัวเองที่บ้าน
ดื่มน้ำมาก ๆ เช่น น้ำผลไม้ น้ำเปล่า หรือซุปอุ่น ๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
พักผ่อนและนอนหลับอย่างเพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น